ตาเสือ ๒

Chisocheton dysoxylifolius Kurz

ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือใต้ (ทั่วไป)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ค่อนข้างเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียน มีใบย่อยได้ถึง ๒๐ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ดอกสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ ช่อดอกเพศผู้มักแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียสั้น ไม่แยกแขนง ดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่กลับ เกลี้ยง ผลแก่สีน้ำตาล เมล็ดสีค่อนข้างดำ

ตาเสือชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๑ ม. มีใบย่อยได้ถึง ๒๐ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนา เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ก้านใบยาวได้ถึง ๑๒ ซม. มีขน ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๑ ซม. มีขน

 ดอกสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ ใบประดับและใบประดับย่อยรูปใบหอกขนาดเล็กมาก ช่อดอกเพศผู้มักแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียสั้น ไม่แยกแขนง ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๔ แฉก เห็นไม่ชัด มีขน กลีบดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ ๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลมและงุ้ม กลีบเรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวใกล้เคียงกับก้านยอดเกสรเพศเมีย หลอดด้านนอกมีขน ปลายหลอดแยกเป็นแฉกเล็ก ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน เกลี้ยง ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน ยาวไม่พ้นกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวใกล้เคียงกับปากหลอดเกสรเพศผู้ มีขน ยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. ยาวได้ถึง ๕ ซม. เกลี้ยง ผลแก่สีน้ำตาล ก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดสีค่อนข้างดำ

 ตาเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและเมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือ ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chisocheton dysoxylifolius Kurz
ชื่อสกุล
Chisocheton
คำระบุชนิด
dysoxylifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือใต้ (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์